Tuesday, March 8, 2011

Project-Based Learning Part I: หนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอนที่ 1

สวัสดีค่ะ ทีมงานวิชาการของ KDG Education ก็กลับมาพบกับคุณผู้อ่านกันอีกแล้วนะคะสำหรับเดือนมีนาคมนี้ ตอนนี้ดิฉันก็มีข่าวดีจะแจ้งให้คุณผู้อ่านทราบว่าคณะบรรณาธิการของเราได้ลงมติว่าเราจะพยายามให้มีบทความดี ๆ น่าสนใจมานำเสนอคุณผู้อ่านถึงสี่ครั้งต่อเดือน ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะคะ


สำหรับบทความตอนนี้ อย่างที่สัญญากันไว้ เป็นเรื่องราวของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ค่ะ โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered learning) แบบหนึ่งคือ การเรียนรู้จากการทำโครงการ (project-based learning) ซึ่งต่อไปเราจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า PBL นะคะ ลักษณะของการเรียนรู้แบบนี้จริง ๆ แล้วก็จะสอดคล้องกับประเด็นของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ TQF ในระดับมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ เพราะหัวใจสำคัญส่วนหนึ่งของ TQF ก็คือการพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั่นเอง


ไม่เฉพาะแต่ในระดับมหาวิทยาลัยหรอกนะคะ การเรียนรู้แบบ PBL นี้ก็ยังสามารถนำไปใช้ได้กับนักเรียนในระดับมัธยมหรือกระทั่งประถมศึกษาเช่นกัน


หัวใจของการเรียนรู้แบบ PBL มีหลักการมาจากคำ ๆ นี้ค่ะ RAFT ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่อาจารย์สามารถใช้ได้กับหลาย ๆ วิชา ในบทเรียนที่สามารถใช้กิจกรรมประกอบได้ ซึ่งการเรียนรู้ตามลักษณะของ TQF นั้นก็จะเน้นการเรียนการสอนที่มีกิจกรรมประกอบอยู่แล้ว เพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกจริงทำจริงค่ะ ดังนั้นการใช้ PBL ในวิชาที่อาจารย์สอน ก็ย่อมเป็น win-win situation ก็ว่าได้ค่ะ สำหรับคำว่า RAFT นี้นะคะก็ย่อมาจาก


✐ Role: นั่นก็คือบทบาทค่ะ ในโครงการหนึ่ง ๆ อาจารย์จะต้องให้ผู้เรียนสามารถเลือกบทบาทของตัวเองได้ในโครงการนั้น ๆ โดยบทบาทนี้ก็จะมีทั้งบทบาทเฉพาะตัวและบทบาทในส่วนของการทำงานเป็นกลุ่ม สมมตินะคะว่าอาจารย์ตั้งโครงการขึ้นมาในวิชาภาษาอังกฤษ ให้ผู้เรียนเขียนบทความบนอินเตอร์เนตจากข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยบทความนี้ก็ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นบทบาทที่ผู้เรียนจะสามารถเลือกทำได้ก็มีเยอะแยะค่ะ เช่น เป็นผู้เขียน เป็นบรรณาธิการ เป็นผู้ออกสำรวจ ฯลฯ


✐ Audience: นั่นก็คือผู้รับสื่อค่ะ ผู้เรียนต้องเลือกผู้รับสื่อให้เหมาะกับบทบาทของตัวเอง เช่น บทบาทของผู้เขียนและบรรณาธิการก็จะมีผู้รับสื่อเป็นเพื่อนนักเรียนและคณาจารย์ที่จะเข้ามาอ่านบทความที่จะเขียนขึ้น หรือบทบาทของผู้สำรวจก็อาจจะเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ทำงานแล้วและใช้ภาษาอังกฤษได้บ้าง


✐ Format: รูปแบบค่ะ เป็นรูปแบบที่ผู้เรียนจะใช้นำเสนอโครงการของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างเช่น การนำเสนอเป็นหน้าเว็บ การนำเสนอโดยสิ่งพิมพ์ หรือกระทั่งการนำเสนอแบบ multimedia ฯลฯ


✐ Topic: หัวข้อค่ะ อาจารย์ต้องกำหนดหัวข้อให้ผู้เรียนเลือกในการทำโครงการ โดยหัวข้อนี้ก็ควรมีตัวเลือกที่ไม่จำกัดจนเกินไปค่ะ และควรเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ และผลการเรียนรู้ของรายวิชานั้น ๆ ด้วยค่ะ


อาจารย์ผู้สอนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า วิธีการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ยึดกับหลักการ RAFT เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างผลการที่เป็นชิ้นเป็นอันโดยใช้ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา วิธีการนี้ยังจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด พินิจพิจารณา แสดงความคิดเห็น และเลือกวิธีการที่จะดำเนินโครงการของตนให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี นอกจากนี้การเรียนการสอนแบบ PBL ยังจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่ตนเองกำลังเรียนรู้อยู่กับชีวิตจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียนรู้อยากพัฒนามากยิ่งขึ้นเพราะเล็งเห็นความเกี่ยวเนื่องของบทเรียนผ่านการทำโครงการไปยังโลกในความเป็นจริงค่ะ ไม่ใช่เป็นแค่การเรียนเพื่อเก็บเอาไว้ขึ้นห้ิงเฉย ๆ


สำหรับบทความตอนหน้า เราจะมาพูดกันถึงเรื่องของ PBL กันต่อค่ะ เพราะสิ่งที่ทีมงาน KDG Education จะนำเสนอในตอนต่อไปนั้นจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายสำหรับผู้สอน นั่นก็คือการตั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักสูตร (set power standards) และการประเมินผลของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ (effective assessment) ซึ่งอาจารย์สามารถนำอุปกรณ์ CPS เข้าไปช่วยได้จากการทำโครงการในรูปแบบการเรียนรู้ PBL ค่ะ


สำหรับเนื้อหาในตอนนี้ ทางทีมงานขอขอบคุณองค์กร Edutopia ที่เอื้อเฟื้อสาระในส่วนหนึ่งค่ะ วันนี้ทางทีมงาน KDG Education ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.