Friday, March 18, 2011

Project-Based Learning Part II: หนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอนที่ 2

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะสำหรับตอนนี้เป็นบทความที่ 3 แล้วสำหรับเดือนมีนาคม ทางทีมวิชาการ KDG Educaiton ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณผู้อ่านคงจะหาประโยชน์ได้จากบทความที่เรานำเสนอไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วก็เช่นเคยค่ะ หากคุณผู้อ่านท่านได้อ่านแล้วเกิดคำถาม หรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อทีมงานของเราได้โดยตรงเลยนะคะ

สำหรับบทความตอนที่ 2 สำหรับเรื่องของการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) นี้ เราก็จะมาเสวนากันต่อถึงเรื่องที่ถือว่าสำคัญมากเรื่องหนึ่งของการดำเนินการเรียนการสอนแบบนี้ค่ะ นอกเหนือจากการสร้างรูปแบบที่ดีตามหลักการ RAFT (Role | Audience | Format | Topic) ดังที่ได้เสนอไปแล้วในบทความตอนที่ 1 นั้น อาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องจัดหาหรือสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้แบบ PBL ค่ะ หากอาจารย์ไม่จัดหาหรือสร้างมาตรฐานที่เหมาะสม การเรียนการสอนแบบที่ว่าก็จะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ค่ะ เนื่องจากว่าการที่ไม่มีมาตรฐานที่เหมาะสม ที่วัดได้ ตั้งแต่ต้น ผู้เรียนก็จะไม่ทราบว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปนั้น ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ผู้สอนก็จะไม่สามารถวัดและประเมินการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ค่ะ

การเรียนรู้แบบ PBL ที่จะได้ผลดี ควรจะเป็นการเรียนรู้แบบลึกค่ะ ไม่ใช่แค่ครอบคลุมเนื้อหาในระดับผิวเผิน เพราะการเรียนรู้แบบนี้จะเกิดความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่ออาจารย์ผู้สอนสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในเชิงลึกได้และบ่งบอกได้ว่าผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้หรือองค์ความรู้ไปมากน้อยแค่ไหนอย่างแท้จริงค่ะ สำหรับตัวผู้เรียนเองก็จะทราบได้ว่าต้องมีทักษะการเรียนรู้หรือองค์ความรู้ใดบ้างที่ตนเองจะต้องพัฒนาและเรียนรู้ในเชิงลึกได้ด้วยค่ะ

ในส่วนของมาตรฐานที่จะจัดให้เข้ากับการเรียนรู้แบบ PBL นี้ ทางทีมงานอยากใช้คำว่า มาตรฐานกำลัง หรือ Power Standards เพราะว่ามาตรฐานดังกล่าวไม่ควรจะเป็นมาตรฐานทั่ว ๆ ไป ไม่มีความชัดเจน ทำให้ทำการประเมินผลได้ยาก แต่มาตรฐานกำลังควรจะมีสมบัติดังนี้ค่ะ

1. เป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่ทางสถานศึกษากำหนด
2. เป็นมาตรฐานเชิงลึกมากกว่าเชิงกว้าง
3. เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21
4. เป็นมาตรฐานที่วัดได้ ประเมินได้

ทางทีมงาน KDG Education คิดว่าสมบัติข้อ 1 น่าจะเป็นคำอธิบายในตัวเองอยู่แล้ว สำหรับสมบัติข้อ 2 คือเป็นมาตรฐานเชิงลึกมากกว่าเชิงกว้าง อาจารย์บางท่านอาจจะยังไม่เห็นภาพ หรือบางท่านอาจจะแย้งว่า หากเราใช้เวลาในการเรียนอันจำกัดไปกับเรียนรู้ตามมาตรฐานเชิงลึก ก็จะทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะครอบคลุมมาตรฐานอื่น ๆ ได้ทุกจุด เหมือนกับเวลาสอน หากเราสอนเป็นบางเรื่องแบบลึก ๆ ก็จะทำให้เราไม่มีเวลาพอที่จะครอบคลุมเนื้อหาที่กำหนดได้ทั้งหมด ปัญหานี้เป็นปัญหาครอบจักรวาลค่ะ คืออาจารย์ผู้สอนที่ไหน ๆ ก็จะรู้สึกแบบนี้ แต่วิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่งคือ อาจารย์ต้องพิจารณาจากหลักสูตรว่าหลักสูตรต้องการอะไร เพราะเวลาอันจำกัด เราจำต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานไม่เท่ากันค่ะ ซึ่งการกำหนดความสำคัญของมาตรฐานก็จะต้องทำกันในระดับสถานศึกษาหรือกระทั่งใหญ่กว่านั้น เมื่อเราทราบระดับความสำคัญของมาตรฐานการศึกษาที่เราตั้งไว้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลือกมาตรฐานที่สำคัญ ๆ บางมาตรฐานมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนแบบ PBL โดยเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานนั้น ๆ ในเชิงลึกค่ะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่ามาตรฐานอื่น ๆ ที่เรากำหนดให้มีความสำคัญลดหลั่นกันไปจะไม่สามารถมามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แบบ PBL ได้เลยนะคะ จริง ๆ แล้วการเรียนรู้แบบ PBL ก็สามารถครอบคลุมมาตรฐานรองอื่น ๆ ได้ค่ะ เพราะเวลาผู้เรียนดำเนินและนำเสนอโครงการ จะมีบ่อยครั้งที่ผู้เรียนก็จะต้องพัฒนาทักษะตามมาตรฐานรองเช่นกันค่ะ แต่เวลาอาจารย์ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐาน หากมาตรฐานนั้นเป็นมาตรฐานรอง อาจารย์ก็ไม่จำเป็นต้องไปเน้นความสำคัญกับมาตรฐานนั้น ๆ มากจนเกินไปค่ะ เพราะอาจารย์ได้มีมาตรฐานกำลังหลัก ๆ ที่จะต้องเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่แล้ว

สำหรับสมบัติข้อ 3 คือเป็นมาตรฐานสำหรับทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ทาง Edutopia ได้ให้คำแนะนำไว้ค่ะว่า ทักษะเหล่านี้ควรจะเป็นอะไรบ้าง ซึ่งก็คือ ทักษะการทำงานร่วมกัน (collaboration) ทักษะการนำเสนอผลงาน (presentation) และ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) สำหรับทางทีมงาน KDG Education อยากจะเติมไว้อีกหนึ่งทักษะซึ่งนั่นก็คือ ทักษะการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม (using technology) โดยเฉพาะทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่นับวันก็จะเพ่ิมบทบาทและความสำคัญในสังคมจริงและสังคมเสมือน (virtual society) อยู่ทุกวันนี้ค่ะ

ส่วนสมบัติข้อ 4 คือเป็นมาตรฐานที่วัดได้ ประเมินตามได้ ตรงนี้สำคัญมากค่ะ เพราะหากมาตรฐานที่ตั้งขึ้นมาไม่สามารถวัดได้ประเมินได้ หรือทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้สอนก็จะประเมินผู้เรียนไม่ตรงเป้า ไม่เข้าประเด็น และจะส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถทราบได้ว่าตนเองควรจะต้องได้รับการพัฒนาอะไร พัฒนาอย่างไร ดังนั้นมาตรฐานต่าง ๆ ที่หามาต้องวัดได้ ประเมินได้ค่ะ ส่วนหัวข้อถัดไปที่เกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานในรูปแบบไหน อย่างไร ให้เหมาะกับการเรียนการสอนแบบ PBL ทางทีมวิชาการ KDG Education ก็จะกลับมาพูดคุยกับคุณผู้อ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้ในบทความตอนหน้านะคะ

สำหรับวันนี้ทางทีมงานขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.