Monday, February 7, 2011

ร่วมทำกิจกรรม นำคลิ๊กเกอร์ไปใช้ ในห้องเรียน: สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

วันนี้ทางทีมงานจะมาเล่าสู่กันฟังถึงโครงการบางส่วนที่บริษัท KDG Education ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับการสนับสนุนการเรียนการสอนภายในห้องเรียนค่ะ

โครงการที่ว่านี้มีชื่อว่า "ร่วมทำกิจกรรม นำคลิ๊กเกอร์ไปใช้ ในห้องเรียน" โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากทีมงาน KDG Education เข้าไปประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนรายวิชา เพื่อช่วยให้อาจารย์นำอุปกรณ์ระบบคลิ๊กเกอร์หรือ Classroom Performance System (CPS) เข้าไปใช้ในห้องเรียนให้เกิดการเรียนรู้แบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered learning) มากที่สุด และให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนได้สูงสุดค่ะ

สำหรับกิจกรรมที่จะมาเล่าสู่กันวันนี้เป็นกิจกรรมที่ทางทีมงานวิชาการของ KDG Education ร่วมกับ รศ.ดร. จิราภา วิทยาภิรักษ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เมื่อเดือนธันวาคมปี 2553 เพื่อนำอุปกรณ์ระบบ CPS เข้ามาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมในชั้นเรียนภาษาอังกฤษค่ะ อ.จิราภาแจ้งว่าคาบเรียนนั้นจะเป็นหัวข้อ การนำเสนอหน้าชั้นเรียนค่ะ น้อง ๆ นักศึกษาทุกคนก็ได้รับแจกอุปกรณ์คลิ๊กเกอร์คนละหนึ่งตัว ถือเอาไว้ใช้ในการโหวต ตอบคำถาม หรือแสดงความเห็นตลอดคาบเรียนค่ะ น้อง ๆ บอกว่าสนุกมากกับการที่ได้ใช้อุปกรณ์ระบบคลิ๊กเกอร์และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างทั่วถึง

คุณผู้อ่านลองดูรูปที่ทางทีมงานเก็บมาฝากกันนะคะ และทางทีมงาน KDG Education ต้องขอขอบพระคุณ รศ.ดร.จิราภา มาอีกครั้งที่ท่านได้กรุณาให้ทีมงานของเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ สนุก ๆ และมีความหมายภายในชั้นเรียนของท่านค่ะ วันนั้นก็เรียกได้ว่าทีมงาน KDG Education ก็ได้เข้าไปทำงานกันทั้งวันเลยค่ะ และต้องขอขอบคุณน้อง ๆ นักศึกษาทุกท่านที่วันนั้นร่วมกันทำกิจกรรมอย่างตั้งใจมากค่ะ



หากอาจารย์ผู้สอนท่านใดที่สนใจอยากให้ทางทีมงานของ KDG Educaiton เข้าไปมีส่วนร่วมนำคิดกิจกรรมที่จะนำอุปกรณ์ระบบคลิ๊กเกอร์ไปใช้ในชั้นเรียนของท่านได้ ก็โปรดติดต่อทีมงานของเรานะคะที่ info@kdg-education.com ทางเราพร้อมที่จะยินดีให้บริการค่ะ

สำหรับบทความตอนนี้ ทีมงาน KDG Education ต้องขอลาไปก่อนนะคะ แล้วกลับมาพบกันใหม่สำหรับบทความตอนหน้า ส่วนบทความจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ต้องติดตามกันค่ะ

Wednesday, February 2, 2011

เรียนภาษาออนไลน์: เรียนอย่างไรให้ถูกและดี ตอนที่ 2

สวัสดีค่ะ วันนี้เรามาต่อกันจากตอนที่แล้วนะคะ ที่ค้างไว้ตรงที่ขณะนี้เร่ิมมีอาจารย์สอนภาษาบางท่านที่ได้ลองนำ Twitter ไปใช้กับการเรียนการสอนภาษาในชั้นเรียน เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนในชั้นได้ฝึกใช้ภาษากับเจ้าของภาษาด้วยค่ะ สำหรับภาคจบนี้ เราจะมาดูกันว่านอกจาก Twitter แล้ว คุณครู อาจารย์ และนักการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นี้ เขาเริ่มประยุกต์ใช้เทคโนโลยีออนไลน์กันอย่างไรให้เหมาะกับการเรียนการสอนภาษานะคะ

ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก อย่างเช่น มหาวิทยาลัย Emory ในมลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สร้างคลังความรู้ไว้ในรูปแบบของบทเรียนภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอาหรับ หรือกระทั่งภาษาที่คนไม่ค่อยรู้กันมากอย่าง ภาษาอินเดียนแดง เอาไว้บน iTunes U ซึ่งเป็นส่วนการศึกษาของร้านดนตรีออนไลน์ iTunes นั่นเอง บทเรียนภาษาเหล่านี้คุณผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น มหาวิทยาลัย Emory ได้ประมาณเอาไว้ว่าตอนนี้มีผู้สนใจจากทั่วโลกได้มาดาวน์โหลดไฟล์บทเรียนภาษาต่าง ๆ ไปแล้วถึงกว่า 10 ล้านไฟล์ นับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่มหาวิทยาลัย Emory ได้เร่ิมสร้างคลังความรู้และให้บริการทาง iTunes U
บทเรียนที่เป็นที่นิยมอย่างสูง มีผู้เข้ามาดาว์นโหลดมากมาย ได้แก่บทเรียนที่มีทั้งส่วนของ audio และ video ผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม บทเรียนเหล่านี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่บทเรียนที่ทางมหาวิทยาลัยสร้างไว้ให้คนภายนอกเลย หากแต่เป็นบทเรียนที่คณาจารย์ของทางมหาวิทยาลัยสร้างไว้เพื่อให้นักศึกษาในชั้นเรียนของตนเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างหาก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยคาดการณ์ว่า ผู้สนใจที่เข้ามาดาวน์โหลดไฟล์เหล่านี้ไปใช้นั้นคงจะไม่ใช่ผู้ที่เรียนภาษาอย่างผิวเผิน แต่น่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษาจากที่อื่นที่เรียนวิชาเหล่านี้อยู่แล้ว หรือกระทั่งอาจจะเป็นอาจารย์จากที่อื่น ๆ ที่จะต้องสอนวิชาเหล่านี้ด้วยก็เป็นได้
นอกเหนือไปจากการที่เทคโนโลยีพวก social media เข้ามามีบทบาทกับการเรียนการสอนโดยเปิดโอกาสให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้สามารถฝึกใช้ภาษากับเจ้าของภาษาแล้ว เทคโนโลยีอย่าง iTunes U ก็ยังสามารถทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงบทเรียนภาษาที่ใช้เสริมทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ทุกที่ ทุกแห่ง และทุกเวลาด้วย ซึ่งข้อดีข้อนี้ทำให้ผู้เรียนที่ไม่ค่อยมีเวลาเรียนให้ห้องเรียนจริงมากนักหรือต้องใช้เวลาในการเดินทางไปเรียนไกล ๆ สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ไปกับการเรียนภาษาจากบทเรียนออนไลน์แบบนี้ได้มากที่สุดค่ะ
อย่างไรก็ดี คณาจารย์ผู้สอนภาษาหลาย ๆ ท่านต่างเสริมว่า ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้จะมีส่วนช่วยเสริมการเรียนการสอนภาษาอย่างมากในปัจจุบัน แต่ทว่าการเรียนภาษาในห้องเรียนจริงและการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จริงในต่างประเทศก็คงเป็นสิ่งที่เทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่ได้
ทีมงาน KDG Education และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอีกหลาย ๆ ท่านก็ยังเห็นพ้องต้องกันว่า กุญแจสำคัญในการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ให้เกิดผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ คือการใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากที่สุด
ดังนั้นหากคุณผู้อ่านท่านใดที่สนใจจะนำเทคโนโลยีการศึกษาไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนภาษาให้กับนักเรียนนักศึกษาในห้องเรียนของท่าน โปรดติดต่อ KDG Education ได้ค่ะ ทางทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก KDG Education ยินดีที่จะช่วยให้คำปรึกษากับท่านเสมอค่ะ