Tuesday, January 18, 2011

เรียนภาษาออนไลน์: เรียนอย่างไรให้ถูกและดี ตอนที่ 1


คุณผู้อ่านบล็อกนี้คงจะคุ้นเคยกับคำว่า Twitter, Facebook My Space หรือ Hi5 เป็นอย่างดี เพราะว่าชื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า online social media หรือ social network ค่ะ คือเป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อกัน เป็นเพื่อนกัน สร้างกลุ่มสังคมออนไลน์ได้โดยผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นเอง หลายต่อหลายครั้งที่สื่อแบบนี้ช่วยให้เพื่อนเก่า ๆ บางคนที่ไม่ได้เจอกันมานานนับปี กลับมาเจอะเจอกัน ติดต่อกันได้อีกครั้งก็มีค่ะ น่าทึ่งจริง ๆ
ปัจจุบันสื่อเหล่านี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายค่ะ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน แม่บ้าน หรือกระทั่งกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อสองสามวันก่อน หลานชายดิฉันอายุ 8 ขวบค่ะ มาขอ “แอดเป็นเพื่อน” กับดิฉันบน Facebook ของพ่อตัวดีด้วย ดิฉันอดคิดในใจไม่ได้ว่า แหมทำไมเด็ก ๆ สมัยนี้ช่างก้าวไกลสมกับเป็นเด็กยุคเทคโนโลยีจริง ๆ
พูดถึงเรื่อง social media หรือ social network แล้ว จะไม่เอ่ยถึงบทบาทของสื่อพวกนี้ ซึ่งกำลังมาแรงในโลกการศึกษาและอาจจะมีอิทธิพลต่อรูปแบบการเรียนการสอนในอนาคตอันใกล้นี้ ก็เห็นจะกะไรอยู่ คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้ว Twitter หรือ Facebook จะมาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนได้อย่างไร เกี่ยวค่ะ เกี่ยวข้องกันได้อย่างดีด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนการสอนภาษา ซึ่งก็คือหัวข้อของบล็อกฉบับนี้ค่ะ
ปัจจุบันการเรียนการสอนในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยใช้ social media หรือ social network เข้ามาเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากค่ะ อย่างในงาน Educause 2009 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านศึกษาอย่าง W. Gardner Campbell ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิชาการการเรียนการสอน จากมหาวิทยาลัย Baylor ในมลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ Twitter ในชั้นเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้ตั้งและป้อนคำถามที่สงสัยในห้องเรียนผ่าน Twitter ไปยังอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นขณะเรียนจริงเลยค่ะ ทั้งนี้ Campbell กล่าวว่าการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญต่อกระบวนการการเรียนการสอนแล้ว นักศึกษายังสามารถตั้งและถามคำถามได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นถามเสียงดัง เป็นการช่วยให้นักศึกษาบางคนที่อาจจะเขินอายและไม่ยอมถามคำถามได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนด้วยค่ะ
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งยังได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับการผนวกการใช้ Twitter เข้ากับกระบวนการการเรียนการสอนในห้องเรียน ผลของการวิจัยดังกล่าวระบุว่า Twitter อาจจะสามารถเพ่ิมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาในชั้นเรียนด้วยค่ะ
จะว่าไปแล้ว ในอดีตเราจะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนภาษานั้นมักจะมาเป็นแนวหน้าเลยทีเดียวในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับกระบวนการการเรียนการสอน ทว่าเมื่อพูดถึงประเด็นอย่าง social network อาจารย์สอนภาษาหลาย ๆ ท่านกลับยังรี ๆ รอ ๆ กันอยู่กับการนำเทคโนโลยี online social media เหล่านี้ไปใช้ในห้องเรียนให้เกิดประโยชน์มากที่สุดค่ะ ทว่ามีอาจารย์บางกลุ่ม แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ได้ใช้ความพยายามในการนำ social network อย่าง Twitter เข้าไปใช้ในห้องเรียนจริงเพื่อให้นักเรียนของตนได้ฝึกฝนการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันกับเจ้าของภาษาด้วยค่ะ

เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเยิ่นเย้อเกินไป คราวหน้าทางทีมงาน KDG Education จะมานำเสนอภาคจบของบทความให้แก่คุณผู้อ่านนะคะ โปรดติดตามค่ะ

Tuesday, January 11, 2011

KDG Education เข้าร่วมงานค่าย Thai-ASEAN Youth Camp ที่จังหวัดนครนายก

ฉบับนี้ทางทีมงาน KDG Education อยากจะมาแชร์กับท่านผู้อ่านถึงกิจกรรมดี ๆ ที่ KDG Education ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ

งานนี้ชื่อว่างาน Thai-ASEAN Youth Camp ค่ะ จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อากาศเย็น ๆ กำลังพอดีเหมาะแก่การจัดค่ายในสถานที่ ที่เป็นป่าเป็นเขาแบบจังหวัดนครนายกเลยค่ะ งานนี้มีตัวแทนเยาวชนและคณาจารย์จากประเทศต่าง ๆ ใน ASEAN มาร่วมถึง 8 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยค่ะ ประเทศ ASEAN ที่มาเข้าร่วมงานก็มีดังนี้ค่ะ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ขาดก็แต่ อินโดนีเซีย กับ พม่า ค่ะที่มาร่วมงานด้วยไม่ได้คราวนี้ งานนี้ก็นับได้ว่าเป็นกิจกรรมเรียกน้ำย่อยในส่วนของเด็กและเยาวชนทางด้านการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทุก ๆ ฝ่ายตระหนักถึงการรวมกันของกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อยกระดับเป็น ASEAN Community ในปีพ.ศ. 2558 (หรือ ค.ศ. 2015) ที่จะถึงนี้ด้วยค่ะ

งานนี้มีกิจกรรมสันทนาการที่จัดขึ้นเพื่อน้อง ๆ และคุณครูจากประเทศอาเซียนต่าง ๆ มากมาย กิจกรรมสนุก ๆ เหล่านี้จัดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันเลยค่ะ นอกจากนี้คณะนักเรียนและคุณครูจากประเทศอาเซียนก็ยังได้มีโอกาสไปทัศนศึกษานอกสถานที่ อย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ด้วยค่ะ

สำหรับกิจกรรมที่พี่ ๆ ทีมงาน KDG Education เข้าไปมีส่วนร่วมก็คือกิจกรรมเชิงวิชาการค่ะ โดยทีมงานของเราได้เข้าไปร่วมจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้น้อง ๆ จากประเทศต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ทั้งภายในประเทศตัวเองและกับเพื่อน ๆ ต่างชาติค่ะ กิจกรรมที่จัดนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ One ASEAN, One  Community ค่ะ ซึ่งเป็นการระดมสมอง ระดมความคิดของน้อง ๆ ให้เด็ก ๆ ช่วยกันสรรหาอัตลักษณ์ของอาเซียน หรือ ASEAN Identities ในมุมมองของพวกเขาค่ะ ทำให้พวกเราเห็นว่าเด็ก ๆ เขาคิดกันอย่างไรเกี่ยวกับ ASEAN และอัตลักษณ์ของ ASEAN ค่ะ จากนั้นเราก็ขอให้น้อง ๆ ช่วยกันคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้นำอัตลักษณ์ที่พวกเขาเห็นพ้องต้องกันในค่ายนี้ไปประชาสัมพันธ์และทำประชาพิจารณ์กับเพื่อน ๆ และคนใกล้ชิดของเขาในประเทศ ในชุมชนท้องถิ่นของเขาค่ะ เป็นโปรเจคเล็ก ๆ ที่ตัวแทนของเด็ก ๆ จากประเทศอาเซียนสามารถนำกลับไปยังบ้านเกิดของเขาเพื่อไปสานต่อได้ค่ะ

ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรม ผสมผสานกับการทำเทคโนโลยีการศึกษาสนุก ๆ มาประยุกต์กับกิจกรรมเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายมากที่สุดค่ะ เด็ก ๆ ได้ฝึกพัฒนาทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการเข้าสังคม การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและหลายหลาย การใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน การคิดแก้ปัญหาตอบโจทย์ ฯลฯ

พี่ ๆ ทีมงาน KDG Education ทุกคนที่ไปร่วมกิจกรรมค่าย Thai-ASEAN Youth Camp ในครั้งนั้นก็เกิดความประทับใจกับความสามารถของเด็ก ๆ เยาวชนอาเซียนทุกคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมค่ะ นอกจากนี้ทางทีมงานก็ยังประทับใจกับภาวะความเป็นผู้นำของคุณครูและผู้นำทางด้านการศึกษาแต่ละท่านจากประเทศต่าง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถมากมายค่ะ

สุดท้ายนี้ KDG Education ขอขอบพระคุณทางทีมงานของค่าย Thai-ASEAN Youth Camp ทุก ๆ ท่านค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสพฐ. ท่านผู้ตรวจราชการ เจ้าหน้าที่และบุคคลากรของสพฐ.ทุกท่านที่ได้กรุณาเชิญและให้โอกาสทีมงานของเราเข้าไปมีบทบาทช่วยกันพัฒนาเด็ก ๆ และเยาวชนอาเซียนของเรา นอกจากนี้ทางทีมงานค่ายอาเซียนยังได้ให้การต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นด้วยค่ะ นอกจากนี้ KDG Education อยากจะขอกล่าวขอบคุณไปยัง คุณครูและอาจารย์ชาวไทยทุก ๆ ท่านและนักวิชาการอิสระที่มาร่วมงานกันในครั้งนี้ด้วยค่ะ

ส่วนท่านผู้อ่านท่านใดที่อยากจะเข้าไปชมรายละเอียดของกิจกรรมสนุก ๆ ครั้งนี้ก็เชิญได้เลยค่ะที่ลิงค์ดังต่อไปนี้นะคะ

Facebook ของค่าย Thai-ASEAN Youth Camp นครนายก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Wednesday, January 5, 2011

Happy New Year 2011: ส่งความสุขปีใหม่ ๒๕๕๔ มายังผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้ ทางทีมงาน KDG Education ขอส่งความสุขมายังท่านผู้อ่านทุกท่านนะคะ

ต้องขอโทษทีที่ทางทีมงานไม่ได้โพสต์ข่าวสารข้อมูลในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

สาเหตุที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าทางทีมงานเกิดอาการงานเข้าค่ะ คือมีงานเข้ามามากมาย ตอนนี้ก็กำลังย่อยข้อมูลกันอยู่ค่ะ มีเรื่องสนุก ๆ เป็นเกร็ดความรู้ ที่ KDG Education มีโอกาสเข้าไปทำงานกับสถานศึกษาต่าง ๆ มากมายเลย

ทางทีมงานขอสัญญาค่ะว่า หลังจากย่อยข้อมูลเรียบร้อยแล้ว เราจะมาเล่าเรื่อง แบ่งปันประสบการณ์สนุก ๆ ให้ท่านผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของการศึกษาและการใช้เทคโนโลยีการศึกษาในห้องเรียนได้อ่านกันค่ะ

ขอบคุณค่ะและติดตามกันได้ในโอกาสต่อ ๆ ไปนะคะ