Monday, April 4, 2011

Project-Based Learning Part III: หนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอนที่ 3

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะ สำหรับวันนี้เราจะมาเสวนากันต่อค่ะเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนรู้แบบ PBL หรือ Project-Based Learning ซึ่งทางทีมงานวิชาการของ KDG Education ก็ได้คุยกับคุณผู้อ่านกันมาแล้วถึงสองตอนด้วยกัน สำหรับบทความตอนนี้จะเป็นตอนจบค่ะ

ในสองตอนแรก ทางทีมงาน KDG Education ก็ได้แนะนำการเรียนรู้ในรูปแบบ PBL และกล่าวถึงหลักการ RAFT ด้วย นอกจากนี้เรายังได้เสวนากันไปแล้วเกี่ยวกับการจัดหาหรือสร้าง มาตรฐานกำลัง (power standards) ซี่งเป็นหัวใจที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนการสอนแบบ PBL ให้ประสบความสำเร็จค่ะ

ในตอนนี้ เราจะมาคุยกันต่อในเรื่องของการประเมินผลของการเรียนรู้แบบ PBL ของผู้เรียนตามมาตรฐานกำลังที่สร้างไว้ค่ะ

ก่อนอื่นที่เราจะคุยกันในรายละเอียดของลักษณะและรูปแบบการประเมินผลสำหรับ PBL นั้น ทางทีมงาน KDG Education อยากจะทำความเข้าใจกับคุณผู้อ่านก่อนว่า การประเมินผลการเรียนรู้ที่จะประสบผลสำเร็จ คือการประเมินจากการเรียนการสอนเกิดขึ้นจริงและประเมินตามมาตรฐานที่ตั้งไว้เท่านั้นค่ะ ซึ่งปัจจัยข้อนี้เป็นสิ่งที่ทางทีมงาน KDG Education เชื่อว่าท่านอาจารย์ผู้สอนและนักการศึกษาต้องตระหนักอยู่เสมอ หากการประเมินผลทำไปโดยไม่ตรงกับการเรียนการสอนที่เกิดขึ้น จะมีปัญหาตามมาภายหลังแน่นอนค่ะ เพราะการประเมินผลนั้นจะเป็นการประเมินผลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เราอาจจะเคยได้ยินกันบ้างก็คือ การที่นักเรียนบ่นว่าข้อสอบออกไม่ตรงกับที่อาจารย์สอน นั่นแหละค่ะคือการประเมิน (ตัวข้อสอบ) ที่ไม่ตรงกับการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจริง (สิ่งที่อาจารย์สอนในชั้นเรียน) ทำให้อาจารย์ผู้สอนไม่สามารถวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง และทำให้ไม่สามารถประเมินการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรูปแบบของการประเมินผลที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบ PBL นั้นมีสองแบบค่ะ คือ

1. การประเมินผลแบบต่อเนื่อง (formative assessement)
2. การประเมินผลแบบรวบยอด (summative assessment)

การประเมินผลทั้งสองรูปแบบนี้มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันอย่างมากค่ะสำหรับการเรียนรู้แบบ PBL

การประเมินผลแบบต่อเนื่อง (formative assessment) จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อเสนอแนะหรือผลสะท้อนกลับมา (feedback) จากอาจารย์ผู้สอนได้อย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ การประเมินผลแบบต่อเนื่องนี้มีความสำคัญมากนะคะสำหรับการเรียนรู้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรูปแบบของการประเมินผลแบบต่อเนื่องนี้ ที่จริงก็ทำได้หลายแบบค่ะ โดยทั่วไปรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันก็มักจะเป็นการสอบย่อย (quizzes) และการทำแบบฝึกหัด (practice exercises) แต่นอกเหนือจากการสอบย่อยและการทำแบบฝึกหัดแล้ว การประเมินผลแบบต่อเนื่องก็ยังรวมไปถึงการทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยค่ะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบ PBL อาจารย์บางท่านอาจจะถามว่าการทำกิจกรรมแบบต่าง ๆ นั้นจะให้คะแนนได้อย่างไรนอกเหนือไปจากการให้คะแนนการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม คำตอบคือได้ค่ะ นั่นก็คือการใช้ rubrics เข้ามาช่วยในการกำหนดมาตรฐานการให้คะแนน (เนื่องจากเราไม่มีเนื้อที่พอที่จะมาอภิปรายกันถึงการใช้ rubrics ประกอบการเรียนการสอนอย่างประสิทธิภาพในบทความนี้ ทางทีมงาน KDG Education ขออนุญาตเปิดประเด็นเสวนาเกี่ยวกับการใช้ rubrics ในการเรียนการสอนในครั้งต่อ ๆ ไปแล้วกันนะคะ ต้องติดตามกันค่ะ)

ยิ่งไปกว่านี้การทำกิจกรรมย่อย ๆ ในห้องเรียน เช่น การเปิดประเด็นถามตอบ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำโครงการตามแบบ PBL โดยใช้ระบบคลิ๊กเกอร์ หรือ CPS (Classroom Performance System) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยค่ะ ตัวผู้เรียนเองก็จะรู้สึกได้ว่าตัวเองได้ทำกิจกรรมที่สนับสนุนและพัฒนาการเรียนรู้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้แบบ PBL ตรงตามลักษณะของการเรียนรู้แบบมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สำหรับอาจารย์ผู้สอนเองก็จะมีวิธีการหลากหลายรูปแบบที่จะนำมาใช้กับการประเมินแบบต่อเนื่องและมีอุปกรณ์ใช้เก็บข้อมูลของผู้เรียนทำให้นำมาใช้ในการประเมินได้อย่างเหมาะสมค่ะ

ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้แบบ PBL จะประสบผลสำเร็จมากที่สุด เมื่ออาจารย์ผู้สอนผนวกการประเมินผลแบบรวบยอด (summative assessment) เข้าไปด้วยค่ะ เพราะการประเมินแบบรวบยอดนั้นจะช่วยให้อาจารย์ผู้สอนประเมินได้ว่าผู้เรียนนั้นได้เรียนรู้ไปมากน้อยแค่ไหน ลึกซึ้งอย่างไร เรียกว่าเป็นการประเมินที่ความสามารถและประสิทธิภาพของผู้เรียนนั่นเองค่ะ

การวัดผลของการเรียนรู้แบบ PBL นั้นก็ควรให้สัดส่วนของการประเมินผลแบบรวบยอดมีมากกว่าสัดส่วนของการประเมินผลแบบต่อเนื่องค่ะ เนื่องจากว่าหากเราให้สัดส่วนของการประเมินแบบต่อเนื่องมากเกินไป ผู้เรียนอาจจะไม่ตระหนักถึงการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสูงสุด เพราะอาจจะคิดว่าหาก "การทำงาน" หรือ "การร่วมกิจกรรม" ที่เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินแบบต่อเนื่องแล้ว คะแนนเก็บก็จะมีมากพอและจะสามารถผ่านวิชานั้น ๆ ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ลึกซี้ง ซึ่งหากผู้เรียนคิดแบบนี้แล้ว การเรียนการสอนก็จะไม่สัมฤทธิ์ผลค่ะ คือผู้เรียนจะคิดแบบ "เรียนแค่ผ่าน"

ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้เรียนตระหนักว่าผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ feedback ที่ได้มาจากการประเมินแบบต่อเนื่อง มาพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองให้ได้เกิดศักยภาพมากที่สุด เพื่อที่ตัวเองจะได้แสดงความสามารถและประสิทธิภาพของตนได้อย่างเต็มที่สำหรับการประเมินแบบรวบยอดในแต่ละครั้ง หากอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนท่านใดที่ดำเนินการเรียนการสอนแบบ PBL โดยมีการทำโครงการ นำเสนอ และประเมินผล โดยยึดถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวที่ทีมงาน KDG Education ได้อภิปรายไว้แล้วในบทความทั้งสามตอนนี้ ทางทีมงานเชื่อเป็นอย่างยิ่งค่ะว่ารายวิชาของอาจารย์จะประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ในลักษณะที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และผู้เรียนในชั้นเรียนของท่านจะสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของพวกเขาตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ค่ะ

และอีกครั้งนะคะ หากคุณผู้อ่านท่านใดมีคำถาม อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ อุปกรณ์ระบบ CPS ในชั้นเรียนในรูปแบบ PBL หรือรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับชั้นเรียนและสถาบันของท่าน โปรดติดต่อ ทีมงาน KDG Education ได้ทุกเมื่อค่ะ ทางเรายินดีช่วยเหลือท่านอย่างเต็มที่

สำหรับวันนี้ ทางทีมงานวิชาการของ KDG Education ขอลาไปก่อน กลับมาพบกันใหม่ในบทความตอนหน้าค่ะ ส่วนเนื้อหาจะเป็นเรื่องอะไร ทางทีมงานขออุบไว้ก่อน แล้วเจอกันใหม่ สวัสดีค่ะ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.