คุณผู้อ่านบล็อกนี้คงจะคุ้นเคยกับคำว่า Twitter, Facebook My Space หรือ Hi5 เป็นอย่างดี เพราะว่าชื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า online social media หรือ social network ค่ะ คือเป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อกัน เป็นเพื่อนกัน สร้างกลุ่มสังคมออนไลน์ได้โดยผ่านอินเตอร์เน็ตนั่นเอง หลายต่อหลายครั้งที่สื่อแบบนี้ช่วยให้เพื่อนเก่า ๆ บางคนที่ไม่ได้เจอกันมานานนับปี กลับมาเจอะเจอกัน ติดต่อกันได้อีกครั้งก็มีค่ะ น่าทึ่งจริง ๆ
ปัจจุบันสื่อเหล่านี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายค่ะ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่น คนทำงาน แม่บ้าน หรือกระทั่งกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อสองสามวันก่อน หลานชายดิฉันอายุ 8 ขวบค่ะ มาขอ “แอดเป็นเพื่อน” กับดิฉันบน Facebook ของพ่อตัวดีด้วย ดิฉันอดคิดในใจไม่ได้ว่า แหมทำไมเด็ก ๆ สมัยนี้ช่างก้าวไกลสมกับเป็นเด็กยุคเทคโนโลยีจริง ๆ
พูดถึงเรื่อง social media หรือ social network แล้ว จะไม่เอ่ยถึงบทบาทของสื่อพวกนี้ ซึ่งกำลังมาแรงในโลกการศึกษาและอาจจะมีอิทธิพลต่อรูปแบบการเรียนการสอนในอนาคตอันใกล้นี้ ก็เห็นจะกะไรอยู่ คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้ว Twitter หรือ Facebook จะมาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนได้อย่างไร เกี่ยวค่ะ เกี่ยวข้องกันได้อย่างดีด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนการสอนภาษา ซึ่งก็คือหัวข้อของบล็อกฉบับนี้ค่ะ
ปัจจุบันการเรียนการสอนในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยใช้ social media หรือ social network เข้ามาเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในห้องเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากค่ะ อย่างในงาน Educause 2009 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านศึกษาอย่าง W. Gardner Campbell ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิชาการการเรียนการสอน จากมหาวิทยาลัย Baylor ในมลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้ Twitter ในชั้นเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้ตั้งและป้อนคำถามที่สงสัยในห้องเรียนผ่าน Twitter ไปยังอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นขณะเรียนจริงเลยค่ะ ทั้งนี้ Campbell กล่าวว่าการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญต่อกระบวนการการเรียนการสอนแล้ว นักศึกษายังสามารถตั้งและถามคำถามได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องยกมือขึ้นถามเสียงดัง เป็นการช่วยให้นักศึกษาบางคนที่อาจจะเขินอายและไม่ยอมถามคำถามได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนด้วยค่ะ
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งยังได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์ฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับการผนวกการใช้ Twitter เข้ากับกระบวนการการเรียนการสอนในห้องเรียน ผลของการวิจัยดังกล่าวระบุว่า Twitter อาจจะสามารถเพ่ิมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาในชั้นเรียนด้วยค่ะ
จะว่าไปแล้ว ในอดีตเราจะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนภาษานั้นมักจะมาเป็นแนวหน้าเลยทีเดียวในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับกระบวนการการเรียนการสอน ทว่าเมื่อพูดถึงประเด็นอย่าง social network อาจารย์สอนภาษาหลาย ๆ ท่านกลับยังรี ๆ รอ ๆ กันอยู่กับการนำเทคโนโลยี online social media เหล่านี้ไปใช้ในห้องเรียนให้เกิดประโยชน์มากที่สุดค่ะ ทว่ามีอาจารย์บางกลุ่ม แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ได้ใช้ความพยายามในการนำ social network อย่าง Twitter เข้าไปใช้ในห้องเรียนจริงเพื่อให้นักเรียนของตนได้ฝึกฝนการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันกับเจ้าของภาษาด้วยค่ะ
เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเยิ่นเย้อเกินไป คราวหน้าทางทีมงาน KDG Education จะมานำเสนอภาคจบของบทความให้แก่คุณผู้อ่านนะคะ โปรดติดตามค่ะ
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.