Friday, March 18, 2011

Project-Based Learning Part II: หนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอนที่ 2

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งนะคะสำหรับตอนนี้เป็นบทความที่ 3 แล้วสำหรับเดือนมีนาคม ทางทีมวิชาการ KDG Educaiton ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณผู้อ่านคงจะหาประโยชน์ได้จากบทความที่เรานำเสนอไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วก็เช่นเคยค่ะ หากคุณผู้อ่านท่านได้อ่านแล้วเกิดคำถาม หรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม กรุณาติดต่อทีมงานของเราได้โดยตรงเลยนะคะ

สำหรับบทความตอนที่ 2 สำหรับเรื่องของการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) นี้ เราก็จะมาเสวนากันต่อถึงเรื่องที่ถือว่าสำคัญมากเรื่องหนึ่งของการดำเนินการเรียนการสอนแบบนี้ค่ะ นอกเหนือจากการสร้างรูปแบบที่ดีตามหลักการ RAFT (Role | Audience | Format | Topic) ดังที่ได้เสนอไปแล้วในบทความตอนที่ 1 นั้น อาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้องจัดหาหรือสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้แบบ PBL ค่ะ หากอาจารย์ไม่จัดหาหรือสร้างมาตรฐานที่เหมาะสม การเรียนการสอนแบบที่ว่าก็จะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ค่ะ เนื่องจากว่าการที่ไม่มีมาตรฐานที่เหมาะสม ที่วัดได้ ตั้งแต่ต้น ผู้เรียนก็จะไม่ทราบว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปนั้น ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ผู้สอนก็จะไม่สามารถวัดและประเมินการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ค่ะ

การเรียนรู้แบบ PBL ที่จะได้ผลดี ควรจะเป็นการเรียนรู้แบบลึกค่ะ ไม่ใช่แค่ครอบคลุมเนื้อหาในระดับผิวเผิน เพราะการเรียนรู้แบบนี้จะเกิดความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่ออาจารย์ผู้สอนสามารถประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในเชิงลึกได้และบ่งบอกได้ว่าผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้หรือองค์ความรู้ไปมากน้อยแค่ไหนอย่างแท้จริงค่ะ สำหรับตัวผู้เรียนเองก็จะทราบได้ว่าต้องมีทักษะการเรียนรู้หรือองค์ความรู้ใดบ้างที่ตนเองจะต้องพัฒนาและเรียนรู้ในเชิงลึกได้ด้วยค่ะ

ในส่วนของมาตรฐานที่จะจัดให้เข้ากับการเรียนรู้แบบ PBL นี้ ทางทีมงานอยากใช้คำว่า มาตรฐานกำลัง หรือ Power Standards เพราะว่ามาตรฐานดังกล่าวไม่ควรจะเป็นมาตรฐานทั่ว ๆ ไป ไม่มีความชัดเจน ทำให้ทำการประเมินผลได้ยาก แต่มาตรฐานกำลังควรจะมีสมบัติดังนี้ค่ะ

1. เป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่ทางสถานศึกษากำหนด
2. เป็นมาตรฐานเชิงลึกมากกว่าเชิงกว้าง
3. เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21
4. เป็นมาตรฐานที่วัดได้ ประเมินได้

ทางทีมงาน KDG Education คิดว่าสมบัติข้อ 1 น่าจะเป็นคำอธิบายในตัวเองอยู่แล้ว สำหรับสมบัติข้อ 2 คือเป็นมาตรฐานเชิงลึกมากกว่าเชิงกว้าง อาจารย์บางท่านอาจจะยังไม่เห็นภาพ หรือบางท่านอาจจะแย้งว่า หากเราใช้เวลาในการเรียนอันจำกัดไปกับเรียนรู้ตามมาตรฐานเชิงลึก ก็จะทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะครอบคลุมมาตรฐานอื่น ๆ ได้ทุกจุด เหมือนกับเวลาสอน หากเราสอนเป็นบางเรื่องแบบลึก ๆ ก็จะทำให้เราไม่มีเวลาพอที่จะครอบคลุมเนื้อหาที่กำหนดได้ทั้งหมด ปัญหานี้เป็นปัญหาครอบจักรวาลค่ะ คืออาจารย์ผู้สอนที่ไหน ๆ ก็จะรู้สึกแบบนี้ แต่วิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่งคือ อาจารย์ต้องพิจารณาจากหลักสูตรว่าหลักสูตรต้องการอะไร เพราะเวลาอันจำกัด เราจำต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานไม่เท่ากันค่ะ ซึ่งการกำหนดความสำคัญของมาตรฐานก็จะต้องทำกันในระดับสถานศึกษาหรือกระทั่งใหญ่กว่านั้น เมื่อเราทราบระดับความสำคัญของมาตรฐานการศึกษาที่เราตั้งไว้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลือกมาตรฐานที่สำคัญ ๆ บางมาตรฐานมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนแบบ PBL โดยเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานนั้น ๆ ในเชิงลึกค่ะ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่ามาตรฐานอื่น ๆ ที่เรากำหนดให้มีความสำคัญลดหลั่นกันไปจะไม่สามารถมามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แบบ PBL ได้เลยนะคะ จริง ๆ แล้วการเรียนรู้แบบ PBL ก็สามารถครอบคลุมมาตรฐานรองอื่น ๆ ได้ค่ะ เพราะเวลาผู้เรียนดำเนินและนำเสนอโครงการ จะมีบ่อยครั้งที่ผู้เรียนก็จะต้องพัฒนาทักษะตามมาตรฐานรองเช่นกันค่ะ แต่เวลาอาจารย์ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐาน หากมาตรฐานนั้นเป็นมาตรฐานรอง อาจารย์ก็ไม่จำเป็นต้องไปเน้นความสำคัญกับมาตรฐานนั้น ๆ มากจนเกินไปค่ะ เพราะอาจารย์ได้มีมาตรฐานกำลังหลัก ๆ ที่จะต้องเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่แล้ว

สำหรับสมบัติข้อ 3 คือเป็นมาตรฐานสำหรับทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ทาง Edutopia ได้ให้คำแนะนำไว้ค่ะว่า ทักษะเหล่านี้ควรจะเป็นอะไรบ้าง ซึ่งก็คือ ทักษะการทำงานร่วมกัน (collaboration) ทักษะการนำเสนอผลงาน (presentation) และ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) สำหรับทางทีมงาน KDG Education อยากจะเติมไว้อีกหนึ่งทักษะซึ่งนั่นก็คือ ทักษะการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม (using technology) โดยเฉพาะทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่นับวันก็จะเพ่ิมบทบาทและความสำคัญในสังคมจริงและสังคมเสมือน (virtual society) อยู่ทุกวันนี้ค่ะ

ส่วนสมบัติข้อ 4 คือเป็นมาตรฐานที่วัดได้ ประเมินตามได้ ตรงนี้สำคัญมากค่ะ เพราะหากมาตรฐานที่ตั้งขึ้นมาไม่สามารถวัดได้ประเมินได้ หรือทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้สอนก็จะประเมินผู้เรียนไม่ตรงเป้า ไม่เข้าประเด็น และจะส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถทราบได้ว่าตนเองควรจะต้องได้รับการพัฒนาอะไร พัฒนาอย่างไร ดังนั้นมาตรฐานต่าง ๆ ที่หามาต้องวัดได้ ประเมินได้ค่ะ ส่วนหัวข้อถัดไปที่เกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานในรูปแบบไหน อย่างไร ให้เหมาะกับการเรียนการสอนแบบ PBL ทางทีมวิชาการ KDG Education ก็จะกลับมาพูดคุยกับคุณผู้อ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้ในบทความตอนหน้านะคะ

สำหรับวันนี้ทางทีมงานขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ

Tuesday, March 8, 2011

Project-Based Learning Part I: หนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตอนที่ 1

สวัสดีค่ะ ทีมงานวิชาการของ KDG Education ก็กลับมาพบกับคุณผู้อ่านกันอีกแล้วนะคะสำหรับเดือนมีนาคมนี้ ตอนนี้ดิฉันก็มีข่าวดีจะแจ้งให้คุณผู้อ่านทราบว่าคณะบรรณาธิการของเราได้ลงมติว่าเราจะพยายามให้มีบทความดี ๆ น่าสนใจมานำเสนอคุณผู้อ่านถึงสี่ครั้งต่อเดือน ยังไงก็ลองติดตามกันดูนะคะ


สำหรับบทความตอนนี้ อย่างที่สัญญากันไว้ เป็นเรื่องราวของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ค่ะ โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered learning) แบบหนึ่งคือ การเรียนรู้จากการทำโครงการ (project-based learning) ซึ่งต่อไปเราจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า PBL นะคะ ลักษณะของการเรียนรู้แบบนี้จริง ๆ แล้วก็จะสอดคล้องกับประเด็นของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ TQF ในระดับมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ เพราะหัวใจสำคัญส่วนหนึ่งของ TQF ก็คือการพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั่นเอง


ไม่เฉพาะแต่ในระดับมหาวิทยาลัยหรอกนะคะ การเรียนรู้แบบ PBL นี้ก็ยังสามารถนำไปใช้ได้กับนักเรียนในระดับมัธยมหรือกระทั่งประถมศึกษาเช่นกัน


หัวใจของการเรียนรู้แบบ PBL มีหลักการมาจากคำ ๆ นี้ค่ะ RAFT ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่อาจารย์สามารถใช้ได้กับหลาย ๆ วิชา ในบทเรียนที่สามารถใช้กิจกรรมประกอบได้ ซึ่งการเรียนรู้ตามลักษณะของ TQF นั้นก็จะเน้นการเรียนการสอนที่มีกิจกรรมประกอบอยู่แล้ว เพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกจริงทำจริงค่ะ ดังนั้นการใช้ PBL ในวิชาที่อาจารย์สอน ก็ย่อมเป็น win-win situation ก็ว่าได้ค่ะ สำหรับคำว่า RAFT นี้นะคะก็ย่อมาจาก


✐ Role: นั่นก็คือบทบาทค่ะ ในโครงการหนึ่ง ๆ อาจารย์จะต้องให้ผู้เรียนสามารถเลือกบทบาทของตัวเองได้ในโครงการนั้น ๆ โดยบทบาทนี้ก็จะมีทั้งบทบาทเฉพาะตัวและบทบาทในส่วนของการทำงานเป็นกลุ่ม สมมตินะคะว่าอาจารย์ตั้งโครงการขึ้นมาในวิชาภาษาอังกฤษ ให้ผู้เรียนเขียนบทความบนอินเตอร์เนตจากข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยบทความนี้ก็ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นบทบาทที่ผู้เรียนจะสามารถเลือกทำได้ก็มีเยอะแยะค่ะ เช่น เป็นผู้เขียน เป็นบรรณาธิการ เป็นผู้ออกสำรวจ ฯลฯ


✐ Audience: นั่นก็คือผู้รับสื่อค่ะ ผู้เรียนต้องเลือกผู้รับสื่อให้เหมาะกับบทบาทของตัวเอง เช่น บทบาทของผู้เขียนและบรรณาธิการก็จะมีผู้รับสื่อเป็นเพื่อนนักเรียนและคณาจารย์ที่จะเข้ามาอ่านบทความที่จะเขียนขึ้น หรือบทบาทของผู้สำรวจก็อาจจะเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ทำงานแล้วและใช้ภาษาอังกฤษได้บ้าง


✐ Format: รูปแบบค่ะ เป็นรูปแบบที่ผู้เรียนจะใช้นำเสนอโครงการของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างเช่น การนำเสนอเป็นหน้าเว็บ การนำเสนอโดยสิ่งพิมพ์ หรือกระทั่งการนำเสนอแบบ multimedia ฯลฯ


✐ Topic: หัวข้อค่ะ อาจารย์ต้องกำหนดหัวข้อให้ผู้เรียนเลือกในการทำโครงการ โดยหัวข้อนี้ก็ควรมีตัวเลือกที่ไม่จำกัดจนเกินไปค่ะ และควรเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ และผลการเรียนรู้ของรายวิชานั้น ๆ ด้วยค่ะ


อาจารย์ผู้สอนที่อ่านมาถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า วิธีการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ยึดกับหลักการ RAFT เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างผลการที่เป็นชิ้นเป็นอันโดยใช้ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมา วิธีการนี้ยังจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รู้จักคิด พินิจพิจารณา แสดงความคิดเห็น และเลือกวิธีการที่จะดำเนินโครงการของตนให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี นอกจากนี้การเรียนการสอนแบบ PBL ยังจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่ตนเองกำลังเรียนรู้อยู่กับชีวิตจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ทำให้ผู้เรียนเกิดความอยากเรียนรู้อยากพัฒนามากยิ่งขึ้นเพราะเล็งเห็นความเกี่ยวเนื่องของบทเรียนผ่านการทำโครงการไปยังโลกในความเป็นจริงค่ะ ไม่ใช่เป็นแค่การเรียนเพื่อเก็บเอาไว้ขึ้นห้ิงเฉย ๆ


สำหรับบทความตอนหน้า เราจะมาพูดกันถึงเรื่องของ PBL กันต่อค่ะ เพราะสิ่งที่ทีมงาน KDG Education จะนำเสนอในตอนต่อไปนั้นจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายสำหรับผู้สอน นั่นก็คือการตั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักสูตร (set power standards) และการประเมินผลของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ (effective assessment) ซึ่งอาจารย์สามารถนำอุปกรณ์ CPS เข้าไปช่วยได้จากการทำโครงการในรูปแบบการเรียนรู้ PBL ค่ะ


สำหรับเนื้อหาในตอนนี้ ทางทีมงานขอขอบคุณองค์กร Edutopia ที่เอื้อเฟื้อสาระในส่วนหนึ่งค่ะ วันนี้ทางทีมงาน KDG Education ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ

Wednesday, March 2, 2011

A New Clicker: อุปกรณ์ระบบ CPS Spark ของ eInstruction

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านนะคะสำหรับข่าวสารเดือนมีนาคมของเรา นี่ก็ปาเข้าไปเดือนสามของปี 2554 แล้วค่ะ เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน สำหรับคุณผู้อ่านที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ตอนนี้หลาย ๆ ท่านก็คงจะกำลังยุ่ง ๆ กันอยู่เพราะใกล้จะปิดเทอมแล้ว ไหนจะต้องออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ตัดเกรด ฯลฯ แต่หลังจากนี้ไปก็จะเป็นช่วงพักร้อนค่ะ ก็ขอให้คุณครูและอาจารย์ทุกท่านได้พักผ่อนหย่อนใจกันเต็มที่ เป็นการเตรียมพร้อมกับการเรียนการสอนที่จะเริ่มขึ้นใหม่ในภาคการศึกษาหน้า ในช่วงนี้หากคุณครูอาจารย์ท่านใดเตรียมวางแผนที่จะใช้อุปกรณ์คลิ๊กเกอร์หรือระบบ Classroom Response System (CPS) หรือกระทั่งเทคโนโลยีสารสนเทศน์ใหม่ ๆ อย่างเช่น Web 2.0 tools เข้ามาพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในชั้นเรียนของท่าน ขอให้ได้ติดต่อเข้ามายัง ทีมงาน KDG Education ได้ทันทีเลยนะคะ ทางทีมงานของเราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คำปรึกษาแก่ท่าน

สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากงานวิจัยและการเตรียมการเรียนการสอนตามปกติในช่วงปิดเทอม อาจารย์หลาย ๆ ท่านคงจะเตรียมพร้อมกับ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ TQF เช่นกันสำหรับภาคการศึกษาใหม่ที่จะถึงนี้ ทางทีมงาน KDG Education ก็มีข่าวสารข้อมูลมาแบ่งปันค่ะ เป็นข้อความจาก ดร.รัตนา มากี ผู้เชี่ยวชาญด้าน TQF ท่านหนึ่ง ซึ่งมีบล็อกที่ประกอบไปด้วยบทความดี ๆ เกี่ยวกับการจัดเตรียมทั้งทางด้านเอกสารและความเข้าใจกับระบบ TQF ค่ะ หากท่านผู้อ่านที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านใดสนใจ ทางทีมงาน KDG Education ก็ขอเชิญให้ท่านติดตามบทความของ ดร.รัตนา ได้ตามลิงค์ที่ให้ไว้ค่ะ

หลาย ๆ หลักสูตรอาจจะทำงานเอกสาร มคอ. 2 และ มคอ. 3 เสร็จลุล่วงไปแล้ว ตอนนี้ก็คงจะเตรียมบทเรียนที่จะสอนให้เข้ากับเอกสารที่เตรียมไว้ ทางทีมงาน KDG Education จึงอยากจะเรียนให้อาจารย์ทราบว่า นอกเหนือจากการเตรียมเอกสาร บทเรียน และวิธีการสอนแบบต่าง ๆ แล้ว การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทางการศึกษาในชั้นเรียนอย่างเช่น อุปกรณ์คลิ๊กเกอร์ ก็จะช่วยท่านได้อย่างมากในการดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบที่มี ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered learning) รวมถึงการเก็บคะแนนและข้อมูลต่าง ๆ ที่บ่งถึงพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งท่านจะสามารถเตรียมเอาไว้ใช้ได้สำหรับเอกสาร มคอ. 5 และกระทั่ง มคอ. 7 ในลำดับถัดไป ดังนั้นหากอาจารย์หรือผู้บริหารหลักสูตรและสถาบันท่านใดอยากทราบรายละเอียดเพ่ิมเติมเกี่ยวกับ อุปกรณ์ CPS ทางทีมงาน KDG Education จะมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คำปรึกษาและรายละเอียดเพ่ิมเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์และการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดค่ะ

และในขณะนี้ทางบริษัท KDG Education ก็จะกำลังนำอุปกรณ์ CPS ระบบใหม่ล่าสุดจาก eInstruction ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาสู่ระบบการศึกษาไทยค่ะ ซึ่งกำลังจะออกสู่ตลาดที่สหรัฐในเดือนมีนาคมนี้ สำหรับในประเทศไทย คาดว่าบริษัท KDG Education จะสามารถนำเข้าสินค้ารุ่นนี้ได้อีกไม่ช้านี้ค่ะ อุปกรณ์ชิ้นใหม่นี้เรียกว่าอุปกรณ์ CPS Spark ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้าย ๆ กับเป็นลูกผสมระหว่างอุปกรณ์ CPS IR และ CPS Pulse ค่ะ คือจะใช้งานได้คล้าย ๆ กับอุปกรณ์ CPS Pulse เพราะว่าใช้สัญญาณคลื่นความถี่วิทยุเช่นกัน ทำให้ใช้กับชั้นเรียนขนาดใหญ่ได้และใช้กับผู้เรียนได้มากมายหลายคน แม้ว่าการกดตอบจะทำได้ไม่มากแบบเท่ากับ CPS Pulse แต่ราคาจะถูกลงมากว่า CPS Pulse ค่ะ หากอาจารย์หรือผู้บริหารท่านใดสนใจ อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CPS Spark ติดต่อสอบถามมายัง ทีมงาน KDG Education ได้ทันทีเลยค่ะ
อุปกรณ์ CPS Spark
สำหรับข่าวสารฉบับนี้ ทางทีมงาน KDG Education ขอลาไปก่อน ฉบับหน้า เรากลับมาพบกับบทความที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กันค่ะ ซึ่งจะไปสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ TQF ในระดับมหาวิทยาลัยด้วย และก็ยังเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ในระดับมัธยมหรือกระทั่งประถมศึกษาเช่นกัน เราจะมาดูด้วยว่าอาจารย์ผู้สอนจะสามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการศึกษา อย่างระบบ CPS อย่างไรให้เหมาะกับการเรียนการสอนแบบนี้ด้วยค่ะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ